ศูนย์อิสลาม กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อาลซุอูด ผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ

กรอบแนวคิด และความเป็นมาของโครงการ

จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประวัติศาสตร์และทำเลที่ตั้งเหมาะสมและสอดคล้องที่จะฟื้นฟูการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา วัฒนธรรม และการสร้างอารยธรรมสมัยใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันปัตตานีในฐานะจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หนึ่งในบรรดาสมาชิกประชาคมอาเซียน ทั้งในตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองวัฒนธรรมใหญ่ ระหว่างวัฒนธรรมของโลกมลายูที่ได้รับการหล่อหลอมจากศาสนาอิสลาม กับโลกที่ไม่ใช่มลายูซึ่งมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ฮินดู และพราหมณ์

            ปัตตานีในอดีตได้ถูกขนานนามว่าเป็น “ระเบียงแห่งนครมักกะฮฺ” ศูนย์การศึกษา และวัฒนธรรมของโลกมลายูที่สามารถเชื่อมโยงกับมักกะฮฺที่เป็นศูนย์ของโลกอาหรับและโลกอิสลาม จึงควรได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เกิดความโดดเด่นเป็นแบบอย่างของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความมั่งคั่ง มั่นคง และสันติภาพ เป็นศูนย์ที่จะเชื่อมสัมพันธ์ทางการศึกษา สังคมและธุรกิจการค้าทั้งในโลกมลายู และโลกมุสลิมทั้งหมดในอนาคต

เมืองมะดีนะตุสสลาม มีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืนแก่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสันติภาพคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนาด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงกำหนดหัวใจหรือศูนย์กลาง (Land Mark) ของเมืองสันติธานี คือศูนย์อิสลาม ซึ่งจะเป็นศูนย์ทางสติปัญญาและ       จิตวิญญาณ เป็นศูนย์ค้นคว้าทางด้านวิชาการ ความรู้ และเป็นศูนย์วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่จะหลอมรวม ในการถ่ายทอด เพื่อสร้างอารยธรรมอิสลามในยุคสมัยใหม่ที่สามารถอยู่ร่วมท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างสงบสุขและมีคุณค่า

ด้วยความเมตตาและโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้าในปี 2559 โครงการศูนย์อิสลามฯ แห่งนี้ได้รับการโปรดเกล้าพิจารณาโดยกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อาลซุอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย และได้ทรงอนุมัติงบประมาณจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าว พร้อมทรงอนุญาตให้ใช้ชื่อศูนย์นี้ว่า “ศูนย์อิสลาม กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อาลซุอูด ผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ ”

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างศูนย์อิสลามที่ชื่อว่า “ศูนย์อิสลามกษัตริย์ซัลมานฯ”เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจร่วมกันของผู้ศรัทธา อันก่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตและจิตใจ เป็นสถานที่หล่อหลอมคุณธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าในพื้นที่
  2. เพื่อเป็นศูนย์รวมของการค้นคว้า ศึกษาวิจัย และแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ด้วยการจัดตั้งสถาบันวิจัยอิสลามที่บูรณาการกับศาสตร์ต่างๆให้สามารถรองรับโลกสมัยใหม่ โดยมีห้องสมุดขนาดใหญ่ และมีนักวิชาการหลากหลายทำการศึกษา ค้นคว้าและการวิจัย
  3. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนาในระดับภูมิภาคและนานาชาติ
  4. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม
  5. เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงความวิจิตร และสง่างามของอารยธรรมอิสลาม
  6. เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดแสดงมรดกทางวิชาการ ศิลปะและวัฒนธรรมอิสลามของท้องถิ่นและจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
  7. เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ในภูมิภาคอาเซียน

การดำเนินงาน/ความคืบหน้า

             ตั้งแต่ปี ค.ศ.1438 กระทรวงศาสนสมบัติ แห่งอาณาจักรซาอุดิอะรเบีย  ได้อนุมัติหลักการในการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโครงการศูนย์อิสลามกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อาลซุอูด ผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ ” จำนวนงบประมาณ 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ยี่สิบล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) เพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวไทย พร้อมได้กำหนดรายละเอียดโดยได้ทำบันทึก MOU ระหว่าง มหาวิทยาลัยกับสถานเอกอัคคราชทูตซาอุดิอารเบียประจำประเทศไทย และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยให้ดำเนินการ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำกับดูแล และศอ.บต.มอบหมายให้จังหวัดปัตตานี กำกับดูแลและอำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่ง

             ในการเตรียมการมหาวิทยาลัยได้จ้างบริษัทบริษัท Hassa Architecture Engineering & Construction Co.Ltd ประเทศตรุกี  เป็นบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบอาคาร ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการออกแบบพร้อมได้ขออนุญาตก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว

             ในด้านการเตรียมสถานที่มหาวิทยาลัยได้ซื้อที่ดิน จำนวน 56 ไร่ 2 งาน 23.4 ตารางวา หรือ 90,493.60 ตารางเมตร พร้อมถมดินโดยใช้งบประมาณจากการระดมเงินวากัฟของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้และพี่ประชาชนจากทั่วประเทศไทย โดยจัดโครงการ  วากัฟเฟสติวัล  และวากัฟรอมฎอน   ตั้งแต่ ค.ศ.2016 จนถึง ค.ศ.2022 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,593,960 บาท (ห้าสิบสองล้านห้าแสนเก้าหมื่นสามพันเก้าร้อยหกสิบบาทถ้วน) และอบจ.จังหวัดปัตตานี ได้สนับสนุนงบประมาณในการทำถนน ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 800 เมตร เชื่อมระหว่างถนนหลักกับบริเวณสถานที่ก่อสร้างศูนย์อิสลาม ซึ่งสถานที่พร้อมที่จะมีการก่อสร้าง

             ในโอกาสที่ พล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เยือนประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัลซาอุด มกุฏราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ในระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม พ.ศ.2565 เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศในรอบ 32 ปี ได้มีราชกิจจานุเบกษาของทางการซาอุดิอาระเบียประกาศ โดยทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะสนับสนุนด้านงบประมาณโครงการผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซีซ อาลซุอูด ที่เมืองมะดีนะตุสสลาม จังหวัดปัตตานี ก็เป็นที่ยินดีของพี่น้องมุสลิมทั้งประเทศไทย ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ประสานงานและติดตามเพื่อจะเริ่มดำเนินการต่อไป