วัตถุประสงค์

เป้าหมายโครงการ
ปัตตานีจายา  
เป็นโครงการถูกริเริ่มขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้นในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น :

ปัตตานีจายาเป็นสังคมที่ต้องการนำเสนอแบบอย่างแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติภาพ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอบายมุข ปราศจากสิ่งเสื่อมเสียทางสังคม เป็นการออกแบบสังคมให้มีเฉพาะสิ่งดีๆ ที่สามารถสัมผัสได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงหมดชั่วอายุคน รวมทั้งเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Education City) เป็นสังคมที่ต้องการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาวิถีชีวิตผู้คนให้เทียบเท่าหรือดีกว่าสังคมอื่นๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถแข่งขันทั้งด้านการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพและด้านอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียมกับผู้คนในสังคมอื่นๆ ทำให้ช่วยลดปัญหาด้านอาชญากรรม ปัญหาด้านความมั่นคง และก่อให้เกิดสันติภาพได้อย่างยั่งยืน แม้แต่การออกแบบก็ได้นำเอาสถาปัตยกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ไทย ชิโนโปรตุเกส และมลายูมาใช้ เพื่อเป็นการสื่อสารกับสังคมว่าเราสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีตามต้องการได้ภายใต้ความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ และศาสนา นั่นคือ พุทธ อิสลาม คริสต์ และอื่นๆ

เพื่อสร้างสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของการยำเกรง (ตักวา) และหลักการอิสลามอันบริสุทธิ์ การมีมารยาทที่ดีสามารถเป็นตัวอย่างซึ่งกันและกันได้ในชุมชนสังคมปัตตานีจายา สามารถเป็นตัวอย่างการดำรงชีวิต การอยู่อาศัยทางสังคมที่ประสบความสำเร็จ ให้กับสังคมอื่นๆ สามารถสืบทอดความรู้และเผยแพร่หลักการที่ถูกต้องของศาสนาอิสลามแก่ประชาชนทั่วไป

สร้างแหล่งต้นแบบในการแสวงหาความรู้ทั้งความรู้ในการดำรงชีวิตในดุนยา และองค์ความรู้ในการนำพาตัวเราเองให้ปลอดภัยในอาคีเราะห์ และมีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับประชาชนไทยในส่วนอื่นๆของประเทศ

เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่สาธารณชนทั่วไปโดยมีมหาวิทยาลัยอิสลามฟาฏอนี ดูแลในเรื่องการผลิตบุคลากรเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์และความต้องการด้านการแพทย์ในพื้นที่ อีกทั้งสร้างรูปแบบการบริการทางการแพทย์ในรูปแบบอิสลามอย่างเต็มที่

เพื่อเป็นแหล่งฝึกฝนอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และผู้ยากไร้ในสังคมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ให้สามารถหล่อเลี้ยงสังคม รวมทั้งขยายต่อไปยังพื้นที่ข้างเคียง โดยเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และกระจายรายได้มากที่สุด

เพื่อสร้างสังคมการอยู่อาศัยแบบช่วยเหลือ พึ่งพาซึ่งกันและกัน มีรูปแบบสวัสดิการทางสังคม เช่น ศูนย์รับเลี้ยงเด็กกำพร้า ศูนย์รับเลี้ยงเด็กก่อนเกณฑ์ อื่นๆ ที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนรากฐานของวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบอิสลามอย่างเข้มข้น

เพื่อสร้างสังคม ชุมชน ที่อยู่อย่างถูกสุขลักษณะ มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งตัวเองและสังคม

ทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมกันว่า “มะดีนะตุสสลาม” ซึ่งให้ความหมายว่า เป็นเมืองในอุดมคติที่มีความเป็นอยู่ที่ดีรอบด้านทั้งปัจเจกบุคคล และสังคม