โครงการศูนย์อิสลามฯ
กรอบแนวคิด และความเป็นมาของโครงการ
อารยธรรมและการสร้างสรรค์ของมนุษย์ทุกยุคสมัยล้วนมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาการด้านจิตวิญญาณความเจริญรุ่งเรืองของวิชาการ ความมั่นคงทางสังคม และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
คุณค่าทางจิตวิญญาณและวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญที่ได้จุดประกายความศิวิไลซ์และการก่อสร้างตัวของอารยะธรรมต่างๆ ในอดีต ด้วยความสำคัญดังกล่าวประชาชาติที่มีความเจริญรุ่งเรือง จึงสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่วิจิตรตระการตา เพื่อถ่ายทอดคุณค่าต่างๆ ที่เป็นนามธรรมสู่รูปธรรมไว้เป็นมรดกตกทอดให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจและศูนย์รวมทางจิตใจแก่สังคมและประชาชนในชาติสืบต่อไปยาวนาน
จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประวัติศาสตร์และทำเลที่ตั้งเหมาะสมและสอดคล้องที่จะฟื้นฟูการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา วัฒนธรรม และการสร้างอารยธรรมสมัยใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ปัตตานีในอดีตได้ถูกขนานนามว่าเป็น “ระเบียงแห่งนครมักกะฮฺ” ศูนย์การศึกษา และวัฒนธรรมของโลกมลายูที่สามารถเชื่อมโยงกับมักกะฮฺที่เป็นศูนย์ของโลกอาหรับและโลกอิสลาม
ปัจจุบันปัตตานีในฐานะจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หนึ่งในบรรดาสมาชิกประชาคมอาเซียน ทั้งในตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองวัฒนธรรมใหญ่ ระหว่างวัฒนธรรมของโลกมลายูที่ได้รับการหล่อหลอมจากศาสนาอิสลาม กับโลกที่ไม่ใช่มลายูซึ่งมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ฮินดูและพราหมณ์
ปัตตานีมีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ และความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม จึงควรได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เกิดความโดดเด่นเป็นแบบอย่างของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความมั่งคั่ง มั่นคง และสันติภาพ เป็นศูนย์ที่จะเชื่อมสัมพันธ์ทางการศึกษา สังคมและธุรกิจการค้าทั้งในโลกมลายู และโลกมุสลิมทั้งหมดในอนาคต
ด้วยความตระหนักถึงศักยภาพและความโดดเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดปัตตานีโดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความใฝ่ฝัน และความมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุข และความมั่งคั่งในพื้นที่ ได้ดำเนินภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันนี้ ตั้งแต่การเริ่มต้นก่อตั้งมหาวิทยาลัยจวบจนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับความเชื่อมั่น ความร่วมมือ และการสนับสนุนจากโลกมุสลิมและโลกมลายูมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการขยายต่อยอดศักยภาพและความโดดเด่นของจังหวัดปัตตานี เชื่อมโยงกับจุดแข็งและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฟาฏอนีในการบริการสังคมในอนาคตมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงได้ระดมความคิด วางแผนเพื่อสร้างเมืองมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อว่า “เมืองมะดีนะตุสลาม (สันติธานี)” ในโครงการปัตตานีจายา เพื่อเป็นศูนย์จัดการศึกษาแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในเขตตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เพื่อเป็นเมืองต้นแบบ (Model City) ที่เป็นศูนย์รวมของการศึกษา การวิจัย ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศูนย์ธุรกิจการค้าฮาลาล (Halal Hub & Halal Trade Center) ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และการเป็น Islamic Medical Hub (ศูนย์กลางการแพทย์ การรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพวิถีอิสลาม) ที่มีศักยภาพในการผลิตบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ พร้อมกับการเตรียมรองรับการให้บริการ การบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) ต่อประชากรมุสลิมในอาเซียนซึ่งมีประมาณ 300 กว่าล้านคนและโลกมุสลิมทั้งหมดอีกประมาณ 1,800 ล้านคน
เมืองมะดีนะตุสสลาม มีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืนแก่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสันติภาพคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนาด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงได้วางแผนให้หัวใจหรือศูนย์กลาง (Land Mark) ของเมืองสันติธานี คือศูนย์อิสลาม ซึ่งจะเป็นศูนย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณ เป็นศูนย์ค้นคว้าทางด้านวิชาการ ความรู้ และเป็นศูนย์วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่จะหลอมรวมในการถ่ายทอด เพื่อสร้างอารยธรรมอิสลามในยุคสมัยใหม่ที่สามารถอยู่ร่วมท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างสงบสุขและมีคุณค่า
ด้วยความเมตตาและโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า หลังจากได้วางแผนเตรียมการมาเกือบ 3 ปีโครงการศูนย์อิสลามฯ แห่งนี้ได้รับการโปรดเกล้าพิจารณาโดยกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิซ อาลซุอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย และได้ทรงอนุมัติงบประมาณจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าว พร้อมทรงอนุญาตให้ใช้ชื่อศูนย์นี้ว่า “ศูนย์อิสลาม กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อาลซุอูด ผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ ”
วัตถุประสงค์
1.เพื่อสร้างศูนย์อิสลามที่ชื่อว่า “ศูนย์อิสลามกษัตริย์ซัลมานฯ”เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจร่วมกันของผู้ศรัทธา อันก่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตและจิตใจ เป็นสถานที่หล่อหลอมคุณธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าในพื้นที่
2.เพื่อเป็นศูนย์รวมของการค้นคว้า ศึกษาวิจัย และแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ด้วยการจัดตั้งสถาบันวิจัยอิสลามที่บูรณาการกับศาสตร์ต่างๆให้สามารถรองรับโลกสมัยใหม่ โดยมีห้องสมุดขนาดใหญ่ และมีนักวิชาการหลากหลายทำการศึกษา ค้นคว้าและการวิจัย
3.เพื่อเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนาในระดับภูมิภาคและนานาชาติ
4.เพื่อเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม
5.เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงความวิจิตร และสง่างามของอารยธรรมอิสลาม
6.เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดแสดงมรดกทางวิชาการ ศิลปะและวัฒนธรรมอิสลามของท้องถิ่นและจากพื้นที่ต่างๆทั่วโลก
7.เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ในภูมิภาคอาเซียน
ลักษณะและรายละเอียดของโครงการ ประกอบด้วย
– อาคาร มัสยิด หอประชุม พื้นที่ธุรกิจวากัฟ
– พื้นที่อาบน้ำละหมาด ทางเข้า สถาบันวิจัยอิสลาม
– สำนักงานบริหารมูลนิธิ
– บ้านประจำตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ และเรือนรับรองบุคคลสำคัญ
– บ้านพักอิหม่ามและมุอัซซิน บ้านพักชั่วคราว 2 ห้องนอน 2 หลัง
– พิพิธภัณฑ์
– ที่จอดรถ
– ระบบรักษาความปลอดภัย ให้มีห้องควบคุมระบบและห้องเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ความคืบหน้า
– วันที่ 6 ตุลาคม 2559 สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึง ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เมื่อวันที่ 4 มุฮัรรอม 1438 ฮ. ได้อนุมัติงบสนับสนุนเพื่อโครงการก่อสร้างศูนย์อิสลามกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซอาลซุอูด ผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ จำนวนงบประมาณ 20,000,000 ดอลลาร์
– ได้มีการวางผังกำหนดพื้นที่สำหรับศูนย์อิสลามฯ โดยกำหนดพื้นที่ จำนวน 30 ไร่ ทางมูลนิธิฯ ได้มีการระดมเงินวากัฟ เพื่อซื้อที่ดิน ซึ่งในปี 2559 ได้ดำเนินการชำระหนี้และปลอดที่ดินจากธนาคารในเขต อิสลามิคเซ็นเตอร์ จำนวน 22 แปลง เป็นเนื้อที่ดินทั้งสิ้น 31 ไร่ 0 งาน 77.4 ตารางวา เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,300,500.00 บาท
– ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์อิสลามฯ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ดังรายนามต่อไปนี้
รายนามคณะกรรมการที่ปรึกษา
- นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
- นายอารีย์ วงศ์อารยะ
รายนามคณะกรรมการบริหาร
- ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ประธานกรรมการ
- นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี รองประธานกรรมการ
- นายซอและห์ ตาเละ รองประธานกรรมการ
- รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี กรรมการ
- ผศ.ดร.อาหมัดอูมาร์ จะปะเกีย กรรมการ
- นพ.แวดือราแม แวดาโอะ กรรมการ
- นายอับดุลอายี สาแม็ง กรรมการ
- นายนิมุคตาร์ วาบา กรรมการ
- นายแวดือราแม มะมิงจิ กรรมการ
- นายสมมิตร สารรักษ์ กรรมการ
- นายหะยีเซ็ง โต๊ะตาหยง กรรมการ
- นายซาฟีอี บารู กรรมการ
- ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ กรรมการ
- ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู กรรมการและเลขานุการ
- นายอิสมาแอ ระนี กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
- รศ.มูฮำหมัด สะมาโระ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
- นายอัดนัน แวสาหะ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

– วันที่ 16 สิงหาคม 2560 มูลนิธิมะดีนะตุสสลาม ได้เซ็นสัญญาทำข้อตกลงว่าจ้างบริษัท Hassa Architecture Engineering & Construction Co.Ltd เป็นบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบอาคาร
– วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลไทยโดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการศูนย์อิสลาม กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อาลซุอูด ผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ ” ตามที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียขอ โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กำกับดูแล และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างศูนย์อิสลามฯ
– วันที่ 26 กันยายน 2560 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อิสลามฯ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปในเรื่องแบบและการใช้สอย และแจ้งเป็นทางการให้บริษัท Hassa โดยมีข้อสรุปการออกแบบ คือให้มีการออกแบบมัสยิดและอาคารส่วนประกอบต่างๆ ในพื้นที่ 30 ไร่ โดยมีมัสยิดที่มีพื้นที่ละหมาดในร่มรวม 6,120 ตารางเมตร สามารถจุคนได้ 8,740 คน นอกจากนี้ยังมีหอประชุมนานาชาติและพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ อีกทั้งยังมีสถาบันวิจัยอิสลามที่มีห้องสมุดสำหรับการวิจัยเป็นองค์ประกอบสำคัญของศูนย์อิสลามอีกด้วย
– วันที่ 2 มิถุนายน 2560 ได้จ้าง บริษัท พีเจเซอร์เวย์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จากกรุงเทพฯ ดำเนินการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้วและมอบข้อมูลการสำรวจให้มูลนิธิฯ และได้ส่งให้บริษัท Haasa เพื่อใช้ประกอบในการออกแบบ
– วันที่ 3 มกราคม 2562 องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อสร้างถนนหลักของโครงการ เชื่อมระหว่างถนนสี่เลน ปัตตานี – นราธิวาส กับสถานที่ก่อสร้างอาคารศูนย์อิสลามศูนย์อิสลามกษัตริย์ซัลมานบินอับดุลอาซิซ อาลซุอูด ช่วงแรกทำถนนลักษณะเป็นถนนหินกรุขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 800 เมตร โดยเริ่มถมและทำถนน ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2562 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562
– เดือน มิถุนายน 2562 ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการออกแบบขุดคลองรอบสถานที่ก่อสร้างอาคารศูนย์อิสลามศูนย์อิสลามกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อาลซุอูด ขนาดกว้าง 40 เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม การดำเนินงานได้ขออนุเคราะห์สนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารตำบลบานา และกรมทรัพยากรน้ำ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิได้ดำเนินการถมดินบริเวณที่จะก่อสร้างศูนย์อิสลามฯ โดยถมจำนวน 30 ไร่ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5,500,000 บาท (ห้าล้านห้าแสนบาทถ้วน)
– วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ประเทศซาอุดิอารเบีย ได้อนุมัติเงิน 200,000 US เพื่อเป็นค่าจ้างออกแบบ โดยจะจ่ายตรงให้กับบริษัท Hassa ซึ่งขณะนี้บริษัท Hassa ได้ดำเนินการเปิดบัญชีในนามบริษัท และได้รับเงินงวดแรกในการทำสัญญาเรียบร้อยแล้ววันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
– วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 บริษัท Hassa ได้จ้างบริษัท C-NAN ASSOCIATE CO. LTD จากจังหวัดภูเก็ต เป็นบริษัทคู่ในประเทศ เพื่อการตรวจสอบแบบและมีส่วนร่วมในแบบก่อสร้างของโครงการและจัดการเกี่ยวกับการอนุญาตก่อสร้างตามระยะเวลาที่ได้รับมอบหมาย พร้อมเตรียมการในการประมูลหาบริษัทผู้รับเหมาต่อไป
– วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 บริษัทที่ปรึกษาได้ขออนุญาตเบิกค่าใช้จ่ายงวดที่สองสำหรับ Final Design มูลค่า 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ
– วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โครงการการออกแบบศูนย์อิสลามฯ ตามขั้นตอนการจ่ายงวดที่สามก็ได้เสร็จเรียบร้อย มูลค่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
– วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 บริษัทที่ปรึกษาอยู่ในการเตรียมเอกสารเพื่อการประมูลหาผู้รับเหมา
ซึ่งจะสามารถดำเนินการทำการขออนุญาตก่อสร้างได้หลังจากได้รับค่าใช้จ่ายงวดที่สองที่มีตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับสถานทูตซาอุดิอารเบียก่อนหน้านี้
รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ประธานมูลนิธิมะดีนะตุสสลาม เร่งรัดงานโดยมีการประสานกับฝ่ายซาอุดิอาระเบีย และบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจะเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้าง หาผู้รับเหมาก่อสร้างให้สามารถเริ่มงานก่อสร้างและทำพิธีวางรากฐานงานก่อสร้างเร็วๆนี้ โดยมีรัฐมนตรีแห่งรัฐฝ่ายกิจการศาสนาของซาอุดดิอาระเบียมาเป็นประธาน